วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557


ต้นไม้มงคลที่ใช้ในงานวางศิลาฤกษ์



ไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์นี้ ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ก่อนทำการก่อสร้างนิยมทำพิธีวางศิลา  ฤกษ์ โดยใช้ไม้มงคล ๙ ชนิด ปักกับพื้นดิน ไม้ทั้ง ๙ ชนิด มีชื่อเป็นมงคลนาม ได้แก่ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้ขนุน ไมชัยพฤกษ์ ไม้ทองหลาง ไม้ไผ่สีสุก ไม้ทรงบาดาล ไม้สัก ไม้พะยูง และไม้กันเกรา อ่านรายละเอียดด้านล่างครับ

๑.ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสน

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 8 - 15 เมตร
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดเอเชียแถบร้อน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป
ออกดอก กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ทิ้งใบก่อนออกดอก

ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด วิธีการเตรียมเมล็ดก่อนเพาะ นำเมล็ดมาตัดหรือทำให้เกิด บาดแผลที่ปลายเมล็ดแล้ว แช่น้ำไว้ 12 ชั่วโมง หรือแช่กรดซัลฟูริคเข้มข้น 1.84 ประมาณ 15 นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง วิธีนี้สะดวกแต่อันตราย และอีกวิธีหนึ่งคือ ต้มน้ำให้เดือดแล้วเทลงในเมล็ด ทิ้งไว้ข้ามคืน ทั้ง 2 วิธีนี้จะทำ ให้เมล็ดดูดน้ำเข้าไปและพร้อมที่จะงอก
วิธีเพาะ อาจหยอดลงในถุงดินที่เตรียมไว้หรือจะเพาะในแปลงเพาะแล้วย้ายชำกล้าในภายหลัง ควรให้เมล็ดอยู่ใต้ผิวดิน 3-5 มิลลิเมตร รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 1-2 สัปดาห์

ประโยชน์ ราก ฝนทาแก้กลาก เป็นยาระบาย รากและแก่นเป็นยาขับพยาธิ เปลือกและไม้ใช้ฟอกหนัง และใช้บดทาผื่นตามร่างกาย เนื้อไม้สีแดงแกมเหลืองทนทานใช้ทำเสา ล้อเกวียน ใบต้มกินเป็นยาระบาย ดอกแก้ไข้ ฝักเนื้อในรสหวาน เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาการแน่นหน้าอก แก้ขัดข้อ

๒.ไม้ขนุน หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อหนุน

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 15 - 30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียเป็นพืชเศรษฐกิจเมืองร้อนที่ให้ผลมีขนาดใหญ่ที่สุดสามารถ บริโภคทั้งผลดิบและผลสุก นอกจากนี้ยังนำไปแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ มีปลูกทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ออกดอก จะออกปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม และเมษายน - พฤษภาคมขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ติดตา และทาบกิ่ง

ประโยชน์ ผลอ่อน ใช้ปรุงอาหาร ผลสุกเยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน เมล็ดปรุงอาหาร เนื้อไม้ ใช้ทำพื้นเรือนและสิ่งก่อสร้าง ครก สากกระเดื่อง หวี โทน รำมะนา ระนาด รากและแก่น ให้สีเหลือง ถึงเหลืองอมน้ำตาล ใช้ย้อมผ้าและแพรไหม รากนำมาปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ไข้ ใบ เผาไฟกับซังข้าวโพดให้ดำเป็นถ่าน แล้วใส่รวมกับก้นกะลามะพร้าวขูด โรยรักษาบาดแผล

๓.ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ ชนะศัตรู ชนะอุปสรรคต่างๆ

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น สูงถึง 15 เมตร ลำต้นสีน้ำตาล ทรงพุ่มใบกลมคล้ายร่ม เมื่อต้นยังอ่อนมีหนาม ใบประกอบรูปขนนกปลายคู่ เรียงสลับ มีใบย่อย 5 - 15 คู่ แผ่นใบรูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนาน ขนาดกว้าง 1.5 - 2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 - 5 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบกลม ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียด

ดอก เริ่มบานสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ใกล้โรยดอกสีขาว ออกเป็นช่อตามกิ่งยาว 5 - 16 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีแดง หรือแดงปนน้ำตาล ดอกเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร ผลเป็นฝักกลมสีดำ ยาว 20 - 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร เมื่อแก่ไม่แตกมีเมล็ดจำนวนมาก

นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดอินโดนีเซีย
ออกดอก กุมภาพันธ์ - เมษายน
ขยายพันธุ์ โดยใช้เมล็ด วิธีเพาะเช่นเดียวกับราชพฤกษ์
ประโยชน์ เนื้อในฝักเป็นยาระบายอ่อน ๆ ปลูกประดับ ดอกสวยงาม

๔.ไม้ทองหลาง หมายถึง การมีทรัพย์สินเงิน มีเงินทองใช้ไม่ขัดสน

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 5 - 10 เมตร ตามกิ่งต้นอ่อนมีหนาม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง
นิเวศวิทยา พบทั่วไปในย่านเอเชียเขตร้อนและอบอุ่น
ออกดอก มกราคม - กุมภาพันธุ์
ขยายพันธุ์ โดยเมล็ดและปักชำ
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ

๕.ไผ่สีสุก หมายถึง มีความสุขกายสบายใจ ไร้ทุกข์โศกโรคภัย

ข้อมูลทางวิชาการ
เป็นไม้ไผ่ประเภทมีหนาม ความยาวลำต้นสูง 10 - 18 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 - 12 เซนติเมตร แข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา กิ่งมากแตกตั้งฉากกับลำต้น หนามโค้งออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 อัน อันกลางยาวกว่าเพื่อน ลำมีรูเล็กเนื้อหนา ใบมีจำนวน 5 - 6 ใบ ที่ปลายกิ่ง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มกว้าง ๆ หรือตัดตรง แผ่นใบกว้าง 0.8 - 2 เซนติเมตร ยาว 10 - 20 เซนติเมตร ใต้ใบมีสีเขียวอมเหลือง เส้นลายใบมี 5 - 9 คู่ ก้านใบสั้น ขอบใบสาก คลีบใบเล็กมีขน

นิเวศวิทยา เชื่อกันว่าเป็นไม้ดั้งเดิมในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก หรือหมู่เกาะแปซิฟิคตอนใต้ ในประเทศไทย มักจะขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มริมห้วย แม่น้ำ และมักปลูกรอบ ๆ บ้านในชนบท

ขยายพันธุ์ ปักชำ ใช้ท่อนไม้ไผ่มาตัดทอนเป็นท่อน ๆ ให้ติดปล้อง 1 ปล้อง (ข้อตา) นำมาปักไว้ในวัสดุชำ เอียงประมาณ 45 องศา เรียงเป็นแถวเป็นแนวเดียวกันเพื่อสะดวกในการดูแลรักษา เติมน้ำลงในกระบอกไม้ไผ่ให้เต็ม ประมาณ 4 สัปดาห์ หน่อจะแตกออกจากตาไม้ไผ่ และรากจะงอกออกจากปุ่มใต้ตา หรือถ้าตัดทอนท่อนไม้ไผ่ให้ตัดข้อตา 2 ข้อ แล้วเจาะตรงกลางระหว่างข้อตา สำหรับเติมน้ำลงไปในปล้อง นำไปวางนอนในวัสดุชำแนวราบก็ได้เช่นกัน

ประโยชน์ สมัยก่อนมักปลูกไว้รอบบ้านเป็นรั้วกันขโมย กันลม หน่อเมื่ออยู่ใต้ดินทำอาหารได้มีรสดี เมื่อโผล่พ้นดินประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร มักเอาไปทำหน่อไม้ดอง จะให้รสเปรี้ยว สีขาว และเก็บได้นาน โดยไม่เปื่อยเหมือนหน่อไม้ชนิดอื่น เนื้อไม้หนาแข็งแรง ใช้สร้างบ้านในชนบทได้ทนทาน ทำเครื่องจักสาน เครื่องใช้ในการประมง ใช้ในการทำนั่งร้านก่อสร้าง ส่วนโคนนิยมใช้ทำไม้คานหาบหามและใช้ทำกระดาษให้เนื้อเยื่อสูง

๖.ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง


ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้พุ่ม สูง 3 - 5 เมตร ใบ ประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 4 - 6 คู่ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนานขนาดกว้าง 1 - 2 เซนติเมตร ยาว 2.5 - 4 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ดอก สีเหลืองออกตามซอกใบ และปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 - 3 เซนติเมตร ผล เป็นฝักแบน กว้าง 1 - 1.5 เซนติเมตร ยาว 7 - 20 เซนติเมตร

นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดเอเชียเขตร้อนและจาไมก้า ออกดอก ตลอดปี ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด วิธีเตรียมเมล็ด ก่อนเพาะ นำเมล็ดมาแช่น้ำร้อน 80 - 90 องศาเซลเซียส แล้วทิ้งไว้ให้เย็น 16 ชั่วโมง

วิธีเพาะเมล็ด เช่นเดียวกับราชพฤกษ์
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ

๗.ไม้สัก หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ อำนาจบารมี คนเคารพนับถือและยำเกรง

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดใหญ่ผลัดใบในฤดูร้อน ลำต้นเปลาตรงเปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ สีเทา โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น

นิเวศวิทยา ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันตก มีอยู่บ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ออกดอก ออกดอกและเป็นผลเดือน มิถุนายน - ตุลาคม
ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด ปักชำ
ประโยชน์ เนื้อไม้มีลายสวยงามแข็งแรงทนทาน เลื่อย ผ่า ไสกบตบแต่ง และชักเงาได้ง่าย ใช้ทำเครื่องเรือนและในการก่อสร้างบ้านเรือน ปลวก มอด ไม่ชอบทำลายเพระมีสารพวกเตคโตคริโนน

๘. ไม้พะยูง หมายถึง การพยุงฐานะให้ดีขึ้น

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 15 - 25 เมตร เปลือกสีเทาเรียบเรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่
นิเวศวิทยา ขึ้นในป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณชื้น ทั่ว ๆ ไป ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ออกดอก พฤษภาคม - กรกฎาคม ฝักแก่ กรกฎาคม - กันยายน

ขยายพันธุ์ โดยนำเมล็ดแช่ในน้ำเย็น 24 ชั่วโมง แล้วเพาะในกะบะเพาะ โดยหว่านให้กระจายทั้งกะบะเพาะแล้วโรยทรายกลบบาง ๆ รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 7 วัน เมื่อกล้าไม้อายุ 10-14 วัน ความสูงประมาณ 1 นิ้ว มีใบเลี้ยง 1 คู่ สามารถย้ายชำในถุงหรือภาชนะที่เตรียมไว้ได้

ประโยชน์ เนื้อไม้สีแดงอมม่วง ถึงแดงเลือดหมูแก เนื้อละเอียด แข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือน เกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด

๙.ไม้กันเกรา 
หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ตำเสา ซึ่งอาจหมายถึงทำให้เสาเรือนมั่นคง


ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 - 25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ
นิเวศวิทยา ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้น และตามที่ต่ำ ที่ชื้นแฉะใกล้น้ำ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ออกดอก เมษายน - มิถุนายน เป็นผล มิถุนายน - กรกฎาคม

ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด

ประโยชน์ เนื้อไม้ สีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง นิยมใช้ทำเสาเรือน แก่นมีรสฝาดใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปลูกเป็นไม้ประดับ





วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ตระกูลพืชกินแมลง



หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes)

พืชในสกุลหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชกินสัตว์ที่มีกับดักแบบหลุมพราง (Pitfall traps, pitcher) เหมือนกับพืชในสกุลSarracenia, Darlingtonia, Heliamphora และ Cephalotus และการวิวัฒนาการของกับดักสันนิษฐานว่าการจากการคัดเลือกภายใต้แรงกดดันในระยะเวลายาวนาน เช่น มีสารอาหารในดินน้อย เป็นต้น ทำให้เกิดการสร้างใบรูปหม้อขึ้น และอาจเกิดจากแมลงซึ่ง เป็นเหยื่อของมันหาอาหารมีพฤติกรรม, บิน, คลาน และไต่ ทำให้เกิดการพัฒนาจากโพรงช่องว่างที่เกิดจากใบประกบกันกลายหม้อซึ่งเป็นกับ ดักแบบหลุมพราง
โดยปกติหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะสร้างหม้อขึ้นมา 2 ชนิด คือหม้อล่าง เป็นหม้อที่อยู่แถวๆโคนต้นมีขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม อีกชนิดคือหม้อบนที่ มีขนาดเล็ก ก้านหม้อจะลีบแหลม รูปทรงของหม้อจะเปลี่ยนไป และสีสันจืดชืดกว่า หรือความแตกต่างอีกอย่างคือหม้อล่างทำหน้าที่ล่อเหยื่อและดูดซึมสารอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโต ส่วนหม้อบน เมื่อต้นโตขึ้น สูงขึ้น หม้อบนจะลดบทบาทการหาเหยื่อ แต่เพิ่มบทบาทการจับยึด โดยก้านใบจะม้วนเป็นวง เกาะเกี่ยวกิ่งไม้ข้างๆ ดึงเถาหม้อข้าวหม้อแกงลิงให้สูงขึ้นและมั่นคงขึ้นไม่โค่นล้มโดยง่าย แต่ในบางชนิดเช่น N. rafflesiana เป็นต้น หม้อที่ต่างชนิดกัน ก็จะดึงดูดเหยื่อที่ต่างชนิดกันด้วย

กาบหอยแครง ( Dionaea)


ชื่อวิทยาศาสตร์ของ VFT คือ Dionaea muscipula
ใน บรรดาพืชกินแมลงทุกชนิด VFT จัดว่าเป็นพืชที่เร้าใจที่สุด สมควรมีไว้ประดับเรือนต้นไม้ เพราะมันเป็นพืชกินแมลงที่มีวิธีการกินแมลงได้เร้าใจที่สุด ไม่ได้รอให้แมลงตกลงไปตายเหมือนหม้อข้าวหม้อแกงลิง ซาราซีเนีย ฯลฯ แต่มันสามารถงับแมลงต่อหน้าต่อตาเลยทีเดียว
แต่คนส่วนใหญ่ไม่มี VFT ประดับเรือนต้นไม้ เพราะไม่รู้จัก หรือเคยเลี้ยง แต่ตายหมดจนเข็ดขยาด ไม่เอาอีกแล้ว จน VFT ถูกครหาว่า เป็นไม้ที่เลี้ยงยากที่สุด ต้องประคบประหงมกันสุดชีวิต บางคนเอาVFT ไปเลี้ยงในห้องแอร์โดยไม่รู้ว่า อันที่จริงมันชอบอากาศร้อนแบบเดือนเมษายนในบ้านเรา ร้อนแบบ 40 องศาเซลเซียสนั่นเลย

ลิลลี่งูเห่า (Darlingtonia)


ดาร์ลิงโทเนีย(Darlingtonia) หรือชื่อทั่วไปที่คนระดับชาวบ้านเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Cobra Lilly แปลว่าลิลลี่งูเห่า
ลิลลี่งูเห่าเป็นพืชกินแมลงกลุ่มเดียวกับซาราซีเนียและHeliamphora มี ชื่อเสียงในแง่ของความแปลกประหลาด น่าพิศวงและสวยงามเป็นอย่างยิ่ง แต่ขณะเดียวกันก็มีชื่อด้านตรงข้ามในแง่ของความบอบบางจนกล่าวกันว่า ลิลลี่งูเห่าเป็นพืชกินแมลงที่เลี้ยงยากที่สุดในโลก แม้แต่ในถิ่นที่ลิลลี่งูเห่ากำเนิดเป็นดงใหญ่ ชาวบ้านในละแวกนั้น ขุดมาใส่กระถางก็ยังตาย
ดาร์ ลิงโทเนียเป็นพืชล้มลุกไม่มีเนื้อไม้ อายุหลายปี มีต้นฝังอยู่ใต้ดินเรียกว่าเหง้า รากแตกเป็นฝอยเล็กๆ ไม่มีรากแก้ว ใบของมันจะแทงขึ้นพ้นพื้นดินลักษณะเป็นกอ เช่นเดียวกับซาราซีเนีย แต่ความแตกต่างที่เห็นชัดคือว่า กรวยที่ยกขึ้นเป็นหลอดด้านหนึ่งจะโค้งงอเป็นรูปโดม จนไปชนปลายกรวยอีกด้านหนึ่งเหลือไว้เพียงรูเล็กๆ พอให้แมลงมุดขึ้นไปได้ ฝากรวยแปลงรูปไปเป็นแผ่นคล้ายลิ้นงู 2 แฉก แล้วกรวยของมันยังบิดตัวหมุนกลับ 180 องศา ทำให้ลิ้น 2 แฉกหมุนกลับมาอยู่นอกกอ ยอดโดมเป็นเนื้อเยื่อใสคล้ายพลาสติก แสงลอดผ่านได้

หยาดน้ำค้าง (Drosera)


หยาดน้ำค้างเป็นพืชกินแมลงที่มีสายพันธุ์หลากหลายมากที่สุดในปัจจุบัน มันกระจายตัวอยู่ทั่วโลก ตั้งแต่บริเวณขั้วโลกที่หนาวเย็นจนถึงทะเลทรายร้อนระอุในออสเตรเลีย
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะร่วมกันคือบนผิวใบของมันจะสร้างต่อมจำนวนนับร้อย เรียก trichomes ต่อมกลุ่มนี้แบ่งหน้าที่ทำงาน โดยส่วนหนึ่งซึ่งจะสร้างน้ำเหนียวใสคล้ายกาวเป็นหยดเล็กๆ จำนวนมาก กลิ่นรสยั่วแมลงให้เข้าไปดูดกิน มองเห็นพร่างพราวเหมือนน้ำค้าง คนไทยจึงเรียกว่า “หยาดน้ำค้าง” หรือภาษาอังกฤษเรียก “Sundew”ใบของหยาดน้ำค้างมีหลายแบบ ทั้งประเภทที่แบนราบกับพื้น ทั้งชนิดที่มีก้านสูงแกว่งไกวไปตามลม

สาหร่ายข้าวเหนียว (Utricularia aurea lour.)


สาหร่านข้าวเหนียว เป็นไม้น้ำขนาดเล็กอีกชนิดห
นึ่งที่ขึ้นปะปนกับสาหร่ายพุงชะโด และสาหร่ายหางกระรอกพบทั่วไปตามแหล่งน้ำนิ่ง ขณะออกดอกจะเห็นสีเหลืองสดพราวไปทั่วบริเวณ เพราะช่อดอกจะชูขึ้นสูงเหนือน้ำ ส่วนลำต้นและใบจมอยู่ใต้น้ำสาหร่ายชนิดนี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษเพราะเป็น พืชกินแมลง ใบเป็นเส้นเล็กๆ ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม หรือเป็นกระจุกๆ ละ ๔ ใบ ตรงโคน ใบพองออกเป็นถุง หรือกระเปาะเล็กๆ สำหรับจับแมลง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดที่มีจำนวนมากหรือด้วยลำต้นที่ขาดเป็นท่อนๆ
สาหร่ายข้าวเหนียวมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปอีกหลายชื่อ เช่น ปราจีนบุรีเรียกว่า สาหร่ายไข่ปูสุพรรณบุรีเรียกว่าสาหร่ายดอกเหลือง กรุงเทพฯเรียกว่า สาหร่าย หรือสาหร่ายนา ที่น่าสนใจคือ ชื่อ สายตีนกุ้ง ที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกนั้นอาจเพี้ยนมาเป็น สายติ่ง ซึ่งมีกล่าวถึงในวรรณคดี หลายบทหลายตอนแต่ไม่มีข้อมูลว่า เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใดก็ได้

กระเป๋าจิงโจ้ (Cephalotus)


กระเป๋า จิงโจ้ ได้รับฉายาว่าเป็น ”อัญมณีแห่งพืชกินแมลง” ด้วยความหายาก ความสวยงาม และความลึกลับในตัวเอง บวกราคาแพงลิบลิ่วสมกับความล้ำค่า
กระเป๋า จิงโจ้ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงสำหรับนักเลี้ยงพืชกินแมลงทั่วโลกว่า นักสะสมพืชกินแมลงที่สามารถเลี้ยงมันได้งดงาม จัดเป็นสุดยอดเซียนที่คนอื่นๆ ต้องยอมอ่อนข้อให้เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามนักเลี้ยงบางคนกล่าวว่า Cephalotus เป็นพืชที่เลี้ยงยากอันดับสองรองจาก Darlintonia กระเป๋า จิงโจ้เป็นพืชที่ไม่มีญาติพี่น้องร่วมสกุล และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่น้อยหน้าใคร แม้มันจะมีเพียงชนิดเดียว แต่ กระเป๋าจิงโจ้ก็มีหลายฟอร์ม โดยแบ่งแยกได้จากความแตกต่างกันในเรื่องของขนาดกระเป๋า สี ลวดลาย และอุปนิสัยในการเลี้ยงดู ที่พบบ่อยคือฟอร์มสีเขียว สีแดง และสีม่วงเข้ม

ขอขอบคุณ MakampoM's Blog ด้วยครับ.


วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557




พอดีวันก่อนเห็นต้นอะไรไม่รู้ชอบมาขึ้นตามซอกหินที่บ้านแม่ค้า เลยลองหาข้อมูลดู...
ปรากฎว่าเป็นต้น"กระสัง"ซึ่งมีสรรพคุณทางยาเพียบ...วันนี้เลยเอาข้อมูลดีๆมาฝากชาวเพจ
เผื่อสนใจ..อย่ามองเค้าเป็นแค่วัชพืช...!!


ผักกะสังเป็นผักโบราณรสชาติดีที่คนไทยรู้จักกินกันมานาน โดยนำมากินเป็นผักสดหรือผักลวก

นอกจากนี้ยังสามารถนำมาทำแกงจืด ได้อย่างหลากหลาย ผักกะสังมีรสเผ็ดหอมเป็นพี่น้องกับพริกไทย
แต่รสชาติดีกว่ามาก ผักกระสังเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีลำต้นอวบน้ำ สีเขียวใส สูง ประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร กินได้ทั้งดิบและสุก บางคนก็นำไปใส่ในแกงเลียง แกงอ่อม หรือแกงป่าทั่วไป แต่บางคนที่ชอบกินสด ก็จะเอาไปกินคู่กับน้ำพริก แต่ถ้าจะกินคู่กับน้ำพริกนั้นต้องเก็บต้นอ่อนที่งอกออกใหม่ แต่ถ้ากินต้นแก่ก็ไม่มีปัญหา

ชื่ออื่น : ผักกระสัง (อำนาจเจริญ)ชากรูด (ภาคใต้) ตาฉี่โพ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ผักกระสัง (ภาคกลาง)

ผักกูด (เพชรบุรี) ผักราชวงศ์ (แม่ฮ่องสอน) ผักสังเขา (สุราษฎร์ธานี) ผักฮากกล้วย (ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peperomia pellucida Korth

วงศ์ : PEPEROMIAEAE
ชื่อสามัญ : Peperomia
แหล่งที่พบ พบทั่วไปของทุกภาค
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น เป็นพืชล้มลุกต้นมีขนาดเล็กสูง 10 – 20 ซม. ลำต้นอวบน้ำขาวใสเปราะหักง่าย
ใบ ใบสีเขียวเป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นในลักษณะตรงข้าม ใบเป็นรูปหัวใจขอบใบเรียบ
แผ่นใบหนาเป็นคลื่นเล็กน้อย
ดอก ออกดอกเป็นช่อตามปลายยอด ช่อดอกมีสีเขียวอ่อนหรือสีครีม
ต้นผักกระสังนี้ ให้พลังงาน 10 แคลอรี่ ต่อ 100 กรัม และยังมีวิตามินซีถึง 15 มิลลิกรัมเลยนะ ผักกระสังเป็นผักที่เปราะง่าย ใบจะมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจสีเขียว ดอกออกเป็นช่อตามปลายยอด ช่อดอกก็มีสีเขียวอ่อนเช่นกัน ผักกระสัง เจริญเติบโตได้ทั้งปี และชอบที่ชุ่มชื่น

สรรพคุณทางยาของผักกระสัง หมอยาพื้นบ้านมักจะใช้ผักกระสังตำพอกฝี หรือคั้นเอาน้ำทาแผลฝีที่มีหนอง 

ผักกระสังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ใบยังนำมารักษาโรคลักปิดลักเปิด แก้ไข้ แก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ และยังเชื่อว่าการใช้น้ำต้มผักกระสังล้างหน้าจะทำให้ผิวสวย ปัจจุบันมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าผักกระสังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์ต้านการอักเสบมีฤทธิ์แก้ปวด และไม่มีพิษภัยที่ประเทศฟิลิปปินส์ก็มีการกินผักกระสังสดๆ 
หรือนำมาต้มกิน เพื่อรักษาโรคเก๊าต์และข้ออักเสบ โดยวิธีการต้มให้นำผักกระสังประมาณ๑ กำมือ ต้มกับน้ำ ท่วมยา ให้เหลือประมาณ ๑ แก้ว แบ่งรับประทานครั้งละ ครึ่งแก้ว เช้า-เย็น นอกจากนี้ชาวฟิลิปปินส์ยังใช้ทั้งต้นสดบดประคบฝี หรือตุ่มหนอง ส่วนในมาเลเซียเชื่อว่าการรับประทานผักกระสังจะช่วยรักษาโรคตาและต้อ (glaucoma) การศึกษาวิจัยในปัจจุบันยังพบว่าผักกระสังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและมี วิตามินซีสูง เรียกได้ว่าวิตามินซีน้องๆ มะนาว คือ มะนาว ๑๐๐ กรัมมีวิตามินซี ๒๐ มิลลิกรัม ส่วนผักกระสังมีอยู่ ๑๘ มิลลิกรัม ในบ้านเราสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยวิเคราะห์หาธาตุอาหารในพืชผักต่างๆ พบว่าผักกระสัง ๑ ขีด หรือ ๑๐๐ กรัม มีเบต้า – แคโรทีนราว ๒๘๕ ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล

เนื่องจากในผักกระสัง มีสรรพคุณทางยาในการรักษาเริมและมะเร็งเต้านม ความรู้นี้ไม่ค่อยแพร่หลายนักแต่แมะ (มือลอ มะแซ) ที่บ้านกำปงบือแน ตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลาบอกว่า ผักกระสังเป็นยารักษาเริม มะเร็งเต้านม และฝี ในการรักษาเริมนั้นจะนำต้นผักกระสังผสมกับขมิ้นและข้าวสาร (ฮูยงงูกุมาตอกูยิ) ตำให้ละเอียดแล้วพอกทิ้งไว้ ๑ คืน และนำใบมาตำขยำแปะทาเม็ดที่เป็นใต้ราวนม แก้มะเร็งเต้านม ข้อมูลที่ว่าผักกระสังใช้รักษามะเร็งนี้ไม่เคยรู้มาก่อนเลยและเป็นที่น่า ทึ่งตรงที่ว่ามีรายงานการศึกษาพบว่า สารในผักกระสังมีฤทธิ์ต้านมะเร็งด้วย นอกเหนือไปจากการแก้อักเสบและแก้ปวด คุณสารีป๊ะ อาแวกือจิ ที่บ้านกำปงบือแน ตำบลจะกวั๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีประสบการณ์การใช้ผักกระสังบอกว่า ผักกระสังเป็นยาสระผมทำให้ผมนุ่มโดยนำใบขยำกับน้ำชโลมศีรษะให้ศีรษะเย็น ป้องกันผมร่วง ทำให้ผมนุ่ม เพราะในผักกระสังมีธาตุอาหาร มีความเป็นกรดอ่อนๆ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย


ผักกะสังเป็นสมุนไพรที่มีประวัติการใช้เป็นยามายาวนาน ในโบลิเวียมีบันทึกที่มีอายุนับพันปีชื่อ Altenos Indians document กล่าวไว้ว่า ผักกระสังทั้งต้นบดผสมน้ำใช้กินเพื่อห้ามเลือด ใช้ส่วนรากต้มกินรักษาไข้ ใช้ส่วนเหนือดินโปะแผล นอกจากนี้ ในประเทศอื่นๆ ที่มีผักกระสังขึ้นอยู่จะใช้ผักกระสังในการรักษาอาการปวดท้องทั้งแบบธรรมดา และปวดเกร็ง ฝี สิว แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก อ่อนเพลีย ปวดหัว ระบบประสาทแปรปรวน หัด อีสุกอีใส มีแก๊สในกระเพาะ ปวดข้อรูมาติก และยังมีการใช้เฉพาะบางท้องถิ่น

ในประเทศบราซิลก็ใช้ในการลดคอเลสเตอรอล ในกียานา (Guyana) ใช้ในการขับปัสสาวะ ลดไข่ขาวในปัสสาวะ ในแถบอเมซอนใช้ขับปัสสาวะ หล่อลื่น หัวใจเต้นผิดปกติ ส่วนในมาเลเซียเชื่อว่าการรับประทานผักกระสังจะช่วยรักษาโรคตาและต้อ (glaucoma) ปัจจุบันมีสารสกัดจากผักกระสังจำหน่ายในต่างประเทศ

ผักกะสังถือว่าเป็นผักต้านมะเร็งชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่าผักกะสังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและ มีวิตามินซีสูง เรียกได้ว่าวิตามินซีน้องๆ มะนาว คือมะนาว 100 กรัม มีวิตามินซี 20 มิลลิกรัม ส่วนผักกะสังมีอยู่ 18 มิลลิกรัม และในผักกะสัง 1 ขีด หรือ 100 กรัม มีเบต้าแคโรทีน ราว 285 ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่จะบอกว่าผักกะสังเป็นผักต้านมะเร็ง โดยเฉพาะการกินเป็นผักสด

ผักกะสัง…รักษาโรคลักปิดลักเปิด ในตำรายาไทยระบุไว้ว่าใบของผักกะสังใช้ในการรักษาโรคลักปิดลักเปิด ซึ่งพอจะอธิบายได้ว่า ในผักกะสังมีวิตามินซีและสารอาหารสูง ซึ่งการรักษานั้นใช้ทั้งการกินและการบดต้นแปะบริเวณที่เลือดออกตามไรฟัน

ผักกะสัง…รักษา เริม ฝี มะเร็งเต้านม

หมอยาพื้นบ้านของไทยใช้ผักกะสังเป็นยาไม่มากนักส่วนใหญ่ใช้พอกฝีและสิวโดย ใช้ต้นสดตำพอกฝี หรือใช้น้ำคั้นทาสิว ในต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ใช้ทั้งต้นสดบดประคบฝี หรือตุ่มหนอง และโรคผิวหนังอื่นๆ เช่นกัน ซึ่งจากการศึกษาสมัยใหม่พบว่าผักกระสังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้าน แบคทีเรียหลายชนิด ทั้งยังมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งจะช่วยกำจัดเนื้อตายทำให้ฝีแตกได้ง่าย และสิวยุบเร็วขึ้น

“ผักกะสังรักษาเริมและมะเร็งเต้านม” ความรู้นี้ไม่ค่อยแพร่หลายนักแต่แมะ (มือลอ มะแซ) ที่บ้านกำปงบือแน ตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลาบอกว่า ผักกะสังเป็นยารักษาเริม มะเร็งเต้านม และฝี ในการรักษาเริมนั้นจะนำต้นผักกะสังผสมกับขมิ้นและข้าวสาร (ฮูยงงูกุมาตอกูยิ) ตำให้ละเอียดแล้วพอกทิ้งไว้ ๑ คืน และนำใบมาตำขยำแปะทาเม็ดที่เป็นใต้ราวนม แก้มะเร็งเต้านม ข้อมูลที่ว่าผักกะสังใช้รักษามะเร็งนี้ไม่เคยรู้มาก่อนเลยและเป็นที่น่าทึ่ง ตรงที่ว่ามีรายงานการศึกษาพบว่า สารในผักกะสังมีฤทธิ์ต้านมะเร็งด้วย นอกเหนือไปจากการแก้อักเสบและแก้ปวด
ผักกะสัง…แก้อักเสบ ข้ออักเสบ เก๊าท์
หมอยาพื้นบ้านบางคนบอกว่ากินผักกะสังแก้ปวดข้อ ซึ่งในประเทศฟิลิปปินส์มีการกินผักกะสังสดๆ หรือนำมาต้มกิน เพื่อรักษาโรคเก๊าท์และข้ออักเสบ โดยนำผักกะสังต้นยาวสัก ๒๐ เซนติเมตร ต้มกับน้ำ ๒ แก้ว ให้เหลือประมาณ ๑ แก้ว แบ่งรับประทานครั้งละ ครึ่งแก้ว เช้า-เย็น ปัจจุบันผักกะสังเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่ฟิลิปปินส์กำลังศึกษาวิจัยเพื่อใช้ เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรวมทั้งโรคเก๊าท์จากการที่ผักกระสังสามารถลดปริมาณ กรดยูริคในกระแสเลือด

ผักกะสัง…บำรุงผิว บำรุงผม

ผักกะสังยังเป็นสมุนไพรสำหรับผู้หญิงอีกชนิดหนึ่งนอกจากใช้รักษาสิวแล้ว สาวๆ สมัยก่อนยังใช้น้ำต้มผักกะสังล้างหน้าบ่อยๆ จะทำให้ผิวหน้าสดใส และนอกจากนี้ คุณสารีป๊ะ อาแวกือจิ ที่บ้านกำปงบือแน ตำบลจะกวั๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา บอกว่าผักกะสังเป็นยาสระผมทำให้ผมนุ่มโดยนำใบขยำกับน้ำชโลมศีรษะให้ศีรษะ เย็น ป้องกันผมร่วง ทำให้ผมนุ่ม ซึ่งอธิบายได้ว่าผักกะสังมีธาตุอาหาร มีความเป็นกรดอ่อนๆ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย

ผักกะสังยังหาง่ายมาก โดยเฉพาะในหน้าฝน เพียงแต่มองหาในที่ชื้นๆ รอบกระถางต้นไม้ ที่เราชอบถอนทิ้งเป็นประจำ หน้าตาผักกะสังเห็นครั้งเดียวก็จำได้ แต่ก็น่าแปลกใจชื่อก็เป็นผักแต่คนไม่ยักนิยมเอามากิน ทั้งที่รสชาติดีมาก ไม่ยากถ้าจะลอง ยำผักกะสัง

ยำผักกะสังโด่ง ดังขึ้นจากการที่หมู่บ้านดงบัง ได้พลิกผันตนเองจากเกษตรเคมีมาปลูกสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ทำให้ได้กล้ากลับ มาเก็บผักพื้นบ้านรอบๆ ตัวมากินอีกครั้งหนึ่ง และได้พยายามพัฒนาตนเองเพื่อเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ซึ่งได้มีการค้นหาเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน สิ่งที่พวกเขาเชี่ยวชาญนอกจากการปลูกต้นไม้แล้ว แม่บ้านของชุมชนนี้ทำอาหารอร่อยมาก เช่น แกงบอน แกงปลาดุกใส่ไพลดำ ยำผักกะสังและตำรับอาหารอื่นๆ อีกมากมาย แต่เมื่อเปิดตลาดออกไปอาหารที่รับความนิยมสูงสุด คือ ยำผักกะสัง มีสื่อมวลชนมากมายไปชิมและนำสูตรมาเผยแพร่ ปัจจุบันสูตร “ยำผักกะสัง” ของหมู่บ้านดงบังเป็นที่รู้จักกันดี

สูตรยำผักกะสังยำผักกะสัง ทำได้ง่าย ๆ หั่นผักชิ้นพอประมาณ 1-2 ทัพพี น้ำมะนาว 1-2 ช้อนโต๊ะ กุ้งแห้ง 1-2 ช้อนโต๊ะ พริกขี้หนูแห้งทอดพอประมาณ มะม่วงซอย 1-2 ช้อนโต๊ะ หัวหอมซอยพอประมาณ แครอทซอยฝอย ๆ 1-2 ช้อนโต๊ะ ถั่วลิสงคั่วพอประมาณ ขิงซอย 1-2 ช้อนโต๊ะ หมูหยองพอประมาณ โหระพา สะระแหน่ ไว้แต่งรส น้ำปลา 1-2 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย 1-2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นรวมเครื่องปรุงทุกอย่าง เข้าด้วยกัน ปรุงรสตามชอบใจ พร้อมตักเสิร์ฟได้เลย

ข้อควรระวัง

ในผู้ที่แพ้พืชที่มีกลิ่นฉุนประเภท Mustard (พืชที่เป็นเครื่องเทศทั้งหลาย) ไม่ควรรับประทาน
ผักกะสังยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมายเช่นการแก้อักเสบ ตำรับนี้จึงเหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องข้ออักเสบ ต้อหิน(glaucoma) เป็นต้นในยุคคนไทยปีหนึ่งๆ ตายจากโรคมะเร็งปีละไม่น้อยกว่า 60,000 คน ดังนั้นเมนูยำผักกะสังของหมู่บ้านดงบังนี้ทันสมัยเป็นอย่างยิ่ง

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : เกษตรพอเพียงคลับ.คอม

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ต้นไม้มงคล 9 อย่าง วางบนโต๊ะทำงาน

ใครๆก็ต้องการความเจริญก้าวหน้า ความมั่นคงในหน้าที่การงาน เคล็ดลับที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น เชื่อว่า ต้องทำงานที่ตัวเองรัก ค้นหาตัวตนของตัวเองให้เจอก่อน เพราะแม้งานจะเจริญก้าวหน้าเพียงใด หากงานนั้นไม่ใช่งานที่ตัวเองรัก ความสุขจากงานย่อมไม่เกิด และยากที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จ  ความเชื่ออย่างหนึ่งของหนุ่มสาวทำงานคือ การปลูกต้นไม้มงคลตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน จะช่วยให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ไม้มงคลที่นิยมปลูกไว้บนโต๊ะทำงาน ทั้งนี้ ไม้มงคล ทั้ง 9 อย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องนำมาวางไว้ทุกสายพันธุ์นะค่ะ สามารถเลือกได้ตามใจชอบ มีดังนี้ค่ะ

1. กระบองเพชร เป็นต้นเล็กๆน่ารักๆ ที่นิยมหามาปลูกกันมาก เพราะหาง่าย ราคาถูก ดูแลไม่ยาก แถมยังช่วยในการดูดคลื่นรังสีจากจอคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย ควรตั้งไว้ด้านทางทิศตะวันตก และควรปลูกในวันเสาร์ แต่อีกความเชื่อหนึ่งสำหรับต้นกระบองเพชร คือ ไม่เหมาะสำหรับคนที่ยังโสด หรือยังไม่แต่งงาน เพราะจะทำให้ไม่สมหวังในความรัก

2. ต้นส้ม เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม ความอยู่เย็น เป็นสุข  สังเกตได้ว่า คนจีนจะถือว่าต้นส้ม และผลส้ม เป็นสิ่งที่เป็นมงคล นิยมให้กันวันตรุษจีน แนะนำให้หาต้นส้มเล็กมาปลุกไว้ที่โต๊ะทำงาน หรือข้างๆ นอกจากช่วยให้การงานดีแล้ว ยังช่วยด้านความรักอีกด้วย

3. ไผ่กวนอิม ไม้ประดับที่มีชื่อเหมือนเทพเจ้า ที่ผู้คนนับถือ เชื่อว่าไผ่กวนอิม เป็นไม้นำโชค มีความศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้ชีวิตรุ่งเรือง ปัจจุบันไผ่กวนอิม นิยมนำมาจัดใส่กระถางเล็กๆ สวยงาม มอบเป็นของขวัญในวาระโอกาสต่างๆ

4. หน้าวัว เป็นดอกไม้รูปร่างแปลกตา มีสีสด หลากสีสัน ออกดอกตลอดปี สีสันที่สด ช่วยให้ลดความตึงเครียดในการทำงาน จิตใจกระชุ่มกระชวย มีชีวิตชีวา

5. บอนสี คนโบราณเชื่อว่า บอนสีเป็นต้นไม้จากราชสำนัก ปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ช่วยคุ้มครอง ปัดป้องสิ่งชั่วร้าย ภยันตรายต่างๆได้ ทั้งยังช่วยให้ชีวิตมีความผาสุก

6. สัปปะรดสี ไม้ประดับในตระกูลสัปปะรด ดอกสีขาวเป็นช่อแบน ผลสีฟ้าอมม่วง เหมาะสำหรับการปลูกไว้ที่โต๊ะทำงาน มองดูสบายตา สบายใจ ต้องการแสงแดดตอนเช้า แนะนำให้วางไว้ที่มีแสงแดดส่องถึงในตอนเช้า

7. เฟิร์นเงิน ปลูกง่าย เติบโตได้ดีในอากาศเย็น เหมาะกับโต๊ะทำงานที่อยู่ในมุมอับ ไม่ค่อยได้รับแสง  แนะนำให้นำต้นไม้ไปรับแสงอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ต้นเฟิร์นเงินช่วยดูดความร้อนจากภายนอกได้

8. ออมเงิน แค่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ออมเงิน เชื่อว่าจะทำให้เก็บเงินอยู่  เงินทองไม่รั่วไหล รู้จักใช้จ่าย มัธยัสถ์  ออมเงินเป็นพรรณไม้เลื้อย  มีลำต้นเป็นเถา รากสามารถยึดเกาะกับวัสดุอื่นๆได้

9. พลูด่าง เป็นพรรณไม้เลื้อยเขตร้อน  ใบเป็นรูปหัวใจ สีเขียวสลับสีเหลืองอ่อน สามารถปลูกใส่กระถางแขวนได้ สวยงามมาก ควรปลูกในตำแหน่งที่รับแสงได้เพียงพอ แต่หากไม่โดนแสงอาทิตย์ ได้รับแสงสว่างของไฟฟ้าก็ช่วยได้เช่นเดียวกัน